
นักดาราศาสตร์ได้ประกาศการค้นพบ ดาวเคราะห์แคระดวงใหม่ ในระบบสุริยะของเรา โดยตั้งชื่อว่า 2017 OF201 ซึ่งโคจรอยู่ไกลจากวงโคจรของ ดาวเนปจูน เป็นอย่างมาก ดาวเคราะห์แคระดวงนี้ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์นานถึง 25,000 ปีโลก
2017 OF201 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 700 กิโลเมตร และโคจรอยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป การค้นพบนี้ได้รับการยืนยันโดย ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet Center) ของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (International Astronomical Union) ทีมงานนักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์แคระดวงนี้จากการตรวจสอบข้อมูลเก่าของกล้องโทรทรรศน์บลังโก (Blanco telescope) ในชิลี และกล้องโทรทรรศน์แคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย (Canada-France-Hawaii telescope) ในรัฐฮาวาย พวกเขาติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุนี้จากภาพถ่าย 19 ชุด ตลอดระยะเวลา 7 ปี
ที่จุดใกล้ที่สุด 2017 OF201 โคจรห่างจากดวงอาทิตย์เกือบ 45 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) ซึ่งเทียบเท่ากับ 45 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ และเป็นระยะที่ใกล้เคียงกับ ดาวพลูโต ดาวเคราะห์แคระเพื่อนบ้าน นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า 2017 OF201 โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 1930 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการค้นพบดาวพลูโต ปัจจุบัน 2017 OF201 อยู่ห่างออกไปเป็นสองเท่าและกำลังเคลื่อนที่ลึกเข้าไปในอวกาศ โดยจะไปถึงจุดที่ไกลที่สุดที่ 1,600 AU ก่อนที่จะเริ่มโคจรกลับเข้ามา
เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะตรวจจับวัตถุที่อยู่ไกลในระบบสุริยะ 2017 OF201 จึงอาจไม่ใช่ดาวเคราะห์แคระเพียงดวงเดียวที่รอการค้นพบ การมีอยู่ของวัตถุชิ้นนี้บ่งชี้ว่าอาจมีวัตถุอื่น ๆ ที่มีวงโคจรและขนาดใกล้เคียงกันอีกนับร้อยดวง ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ไกลเกินกว่าที่จะตรวจจับได้
วัตถุที่เพิ่งค้นพบนี้อาจท้าทายทฤษฎี ดาวเคราะห์ 9 ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่คาดว่าโคจรอยู่ห่างจากดาวเนปจูนหลายพันล้านไมล์ แม้ว่านักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ 9 อธิบายการรวมกลุ่มของวัตถุพ้นดาวเนปจูนได้ แต่ 2017 OF201 กลับไม่เป็นไปตามรูปแบบนั้น นักวิจัยชี้ว่าหากดาวเคราะห์ 9 มีอยู่จริง มันจะผลัก 2017 OF201 ออกจากระบบสุริยะอย่างรวดเร็ว นี่แสดงให้เห็นว่าแม้กล้องโทรทรรศน์จะก้าวหน้าเพียงใด เราก็ยังมีอีกมากที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับระบบสุริยะของเรา
ข้อมูลอ้างอิง: Live Science
– Scientists have discovered a new dwarf planet in our solar system, far beyond the orbit of Neptune