
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา (Hiroshima University) ในญี่ปุ่น ได้สร้างความประหลาดใจให้กับวงการดาราศาสตร์ หลังการวิเคราะห์ตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยริวกู (Ryugu) เผยให้เห็นถึงแร่ชนิดหนึ่งที่โดยปกติแล้วจะก่อตัวขึ้นในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงจัดและมีออกซิเจนต่ำ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ดาวเคราะห์น้อยน้ำแข็งดวงนี้ไม่น่าจะเคยมีมาก่อน
ทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาอนุภาคขนาดเล็กจิ๋วจากดาวเคราะห์น้อยริวกู ที่ถูกนำกลับมายังโลกโดยยานสำรวจฮายาบูสะ 2 (Hayabusa 2) ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เมื่อเดือนธันวาคม 2020 ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้เปรียบเสมือนแคปซูลกาลเวลาที่แช่แข็งช่วงกำเนิดระบบสุริยะเอาไว้
ในการศึกษานี้ ทีมนักวิจัยได้ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (electron microscopy) เพื่อตรวจสอบตัวอย่างที่ได้มา และได้ค้นพบแร่ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “เจอร์ฟิชเชอไรต์” (djerfisherite) ซึ่งเป็นแร่ซัลไฟด์ที่มีโพแทสเซียม เหล็ก และนิกเกิลเป็นองค์ประกอบ
การค้นพบนี้สร้างความแปลกใจอย่างยิ่ง เนื่องจากแร่เจอร์ฟิชเชอไรต์มักจะพบในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงมากและมีออกซิเจนต่ำ เช่น ในอุกกาบาตชนิดเอนสตาไทต์คอนไดรต์ (enstatite chondrites) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากบริเวณชั้นในของระบบสุริยะที่ร้อนจัด
การค้นพบนี้ได้นำไปสู่ข้อสมมติฐานใหม่ 2 อย่าง คือ
1. ดาวเคราะห์น้อยริวกูอาจเคยมีช่วงเวลาที่อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่คาดคิด ทำให้เกิดจุดร้อนภายในที่เอื้อต่อการก่อตัวของแร่เจอร์ฟิชเชอไรต์
2. แร่นี้อาจมาจากวัตถุอื่นที่ถูกนำพามาจากบริเวณอื่นของระบบสุริยะ ในช่วงเริ่มต้นของการก่อตัวของระบบสุริยะ ซึ่งอาจเกิดจากการชนกันและรวมตัวกันของวัตถุที่มีต้นกำเนิดแตกต่างกัน
ดาวเคราะห์น้อยริวกูเป็นดาวเคราะห์น้อยชนิด “C-type” ซึ่งอุดมไปด้วยคาร์บอนและมีลักษณะคล้ายคลึงกับอุกกาบาตชนิดคาร์บอนาเชียสคอนไดรต์ (CI chondrite meteorites) ที่มีร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงทางเคมีจากน้ำในอดีต โดยทั่วไปแล้วสภาพแวดล้อมบนดาวเคราะห์น้อยริวกูจะมีอุณหภูมิต่ำมาก การค้นพบแร่ที่ต้องการความร้อนสูงจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของดาวเคราะห์น้อยชนิดนี้
การศึกษาครั้งนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Meteoritics & Planetary Science ไม่เพียงแต่ท้าทายแนวคิดที่ว่าดาวเคราะห์น้อยริวกูมีองค์ประกอบที่เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ยังเปิดประตูสู่คำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับความซับซ้อนของดาวเคราะห์น้อยดึกดำบรรพ์และกระบวนการเคลื่อนย้ายสสารในระบบสุริยะยุคแรกเริ่ม
ข้อมูลอ้างอิง: SciTech Daily
- A Fiery Mineral Found in an Icy Asteroid Baffles Scientists