
องค์การนาซาได้ยืนยันการค้นพบดาวหางดวงใหม่ที่มาจากนอกระบบสุริยะของเราอย่างเป็นทางการ และถูกตั้งชื่อว่า 3I/ATLAS ถือเป็นวัตถุระหว่างดาวฤกษ์ (interstellar object) ดวงที่ 3 ที่นักวิทยาศาสตร์เคยตรวจพบว่ากำลังเดินทางผ่านระบบสุริยะของเรา หลังจากที่เคยพบ Oumuamua (อูมูอามูอา) ในปี 2017 และ 2I/Borisov (2ไอ/บอริซอฟ) ในปี 2019
ดาวหาง 3I/ATLAS (3ไอ/แอตลาส) ถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2025 โดยกล้องโทรทรรศน์สำรวจ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากนาซา ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองริโออูร์ตาโด (Rio Hurtado) ประเทศชิลี หลังจากนั้น ได้มีการรวบรวมข้อมูลการสังเกตการณ์ย้อนหลังไปถึงวันที่ 14 มิถุนายน จากกล้องโทรทรรศน์ ATLAS อื่นๆ ทั่วโลก และกล้องโทรทรรศน์ซวิคกี้ แทรนเซียนท์ แฟซิลิตี (Zwicky Transient Facility) ที่หอดูดาวพาโลมาร์ (Palomar Observatory) เพื่อยืนยันวงโคจรของดาวหางดวงนี้
จากการคำนวณวงโคจรเบื้องต้นพบว่า ดาวหาง 3I/ATLAS ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 กิโลเมตร มีวิถีโคจรแบบไฮเปอร์โบลา (hyperbolic trajectory) ซึ่งบ่งชี้ว่าไม่ได้ถูกผูกติดอยู่กับแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ และมาจากอวกาศระหว่างดาวฤกษ์ โดยกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วสูงถึงประมาณ 68 กิโลเมตรต่อวินาที (152,000 ไมล์ต่อชั่วโมง)
ดาวหาง 3I/ATLAS คาดว่าจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในเดือนตุลาคม 2025 โดยจะอยู่ที่ระยะประมาณ 2 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) หรือประมาณสองเท่าของระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ แม้จะถูกจัดอยู่ในรายชื่อวัตถุใกล้โลก (Near-Earth Object) แต่ดาวหางดวงนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อโลกแต่อย่างใด และจะคงระยะห่างจากโลกอย่างน้อย 1.6 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 240 ล้านกิโลเมตร
การค้นพบวัตถุระหว่างดาวฤกษ์เช่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาองค์ประกอบและสภาพแวดล้อมของระบบดาวเคราะห์อื่นๆ นอกเหนือจากระบบสุริยะของเรา นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกำลังดำเนินการศึกษาขนาดและคุณสมบัติทางกายภาพของดาวหาง 3I/ATLAS เพิ่มเติม และคาดว่าจะยังคงสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินไปจนถึงเดือนกันยายน ก่อนที่จะเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไป และจะกลับมาปรากฏให้เห็นอีกครั้งในต้นเดือนธันวาคมหลังจากผ่านดวงอาทิตย์ไปแล้ว