
ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซาชี้ การปะทุของภูเขาไฟครั้งใหญ่ต่อเนื่องยาวนาน อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่เปลี่ยนดาวศุกร์จากโลกที่อาจเคยมีสิ่งมีชีวิต สู่สภาวะเรือนกระจกสุดขั้ว อย่างในปัจจุบัน และยังอาจเป็นชะตากรรมของโลกและดาวเคราะห์หินดวงอื่น ๆ
ดาวศุกร์ (Venus) ในปัจจุบันคือโลกที่แสนโหดร้าย ด้วยอุณหภูมิพื้นผิวสูงพอที่จะหลอมตะกั่วได้ และบรรยากาศที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์หนาแน่นกว่าโลกถึง 90 เท่า แต่งานวิจัยใหม่ชี้ว่าชะตากรรมของดาวศุกร์อาจถูกกำหนดโดยการปะทุของภูเขาไฟขนาดมหึมาที่กินเวลายาวนานนับแสนนับล้านปี
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Planetary Science Journal นำโดย ดร. ไมเคิล เจ. เวย์ (Dr. Michael J. Way) จากสถาบันกอดดาร์ดเพื่อการศึกษาอวกาศของนาซา (NASA’s Goddard Institute for Space Studies) ในนิวยอร์ก ได้ศึกษาปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Large Igneous Provinces (LIPs) ซึ่งเป็นการปะทุของหินหนืดปริมาณมหาศาลที่ไหลออกมาปกคลุมพื้นผิวโลกเป็นบริเวณกว้างในอดีต
บนโลกของเรา การเกิด LIPs มีความเชื่อมโยงกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หลายครั้งในประวัติศาสตร์ โดยการปะทุเหล่านี้ได้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลสู่บรรยากาศ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง
ทีมวิจัยได้ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาผลกระทบของการเกิด LIPs บนดาวศุกร์ พวกเขาพบว่าการปะทุเหล่านี้ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ของดาวศุกร์ สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศที่เคยอาจจะอบอุ่นและชื้นคล้ายโลกเมื่อหลายพันล้านปีก่อน ไปสู่สภาพเรือนกระจกที่ร้อนระอุในปัจจุบันได้ และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanets) ที่คล้ายโลกดวงอื่น ๆ ก็อาจเผชิญกับชะตากรรมเดียวกันได้
การค้นพบนี้ไม่เพียงแต่ให้คำอธิบายใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของดาวศุกร์ แต่ยังเป็นเครื่องเตือนใจถึงความเปราะบางของสภาพภูมิอากาศบนโลกของเรา แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมของมนุษย์ในปัจจุบันจะยังไม่ถึงระดับเดียวกับการเกิด LIPs แต่ก็กำลังผลักดันให้โลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
การศึกษาชะตากรรมของดาวศุกร์ จึงเปรียบเสมือนการมองเข้าไปในกระจกเพื่อดูอนาคตที่เป็นไปได้ของโลก หากเราไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับจุดเปลี่ยนของดาวเคราะห์เพื่อนบ้านดวงนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง: M. J. Way et al
- Large-scale Volcanism and the Heat Death of Terrestrial Worlds”, The Planetary Science Journal (2022)