
องค์การนาซา (NASA) และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ร่วมกันทดสอบแบบจำลองของเครื่องบินทดลอง X-59 ในอุโมงค์ลมความเร็วเหนือเสียง (supersonic wind tunnel) ณ เมืองโจฟุ (Chofu) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและวัดระดับเสียงที่เกิดขึ้นใต้ท้องเครื่องบิน นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของภารกิจในการทำให้การเดินทางที่เร็วกว่าเสียงเป็นจริงได้โดยไม่สร้างมลภาวะทางเสียง
เครื่องบิน X-59 เป็นหัวใจสำคัญของภารกิจเควสส์ (Quesst) ของนาซา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อออกแบบอากาศยานที่สามารถบินด้วยความเร็วเหนือเสียงได้โดยไม่ก่อให้เกิดเสียงดังสนั่น หรือ “#โซนิกบูม” (sonic boom) ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการบินเหนือพื้นดิน เครื่องบินรุ่นนี้ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้ #คลื่นกระแทก (shock waves) ที่เกิดขึ้นจากการแหวกอากาศด้วยความเร็วสูงไม่รวมตัวกันจนเกิดเสียงดัง แต่จะสร้างเพียงเสียงกระแทกที่เบาบาง (quieter sonic thump) เท่านั้น
เนื่องจากอุโมงค์ลมของ JAXA มีขนาดจำกัด นักวิจัยจึงใช้แบบจำลองของเครื่องบิน X-59 ที่มีขนาดเพียง 1.62% ของเครื่องจริง หรือยาวประมาณ 19 นิ้ว มาทำการทดสอบภายใต้สภาวะที่จำลองการบินด้วยความเร็ว 1.4 มัค (Mach 1.4) หรือประมาณ 1,488 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วเดินทางของเครื่องบิน X-59
การทดสอบครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามแล้วสำหรับแบบจำลองลำนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงทดลองที่สำคัญ และนำมาเปรียบเทียบกับแบบจำลองการคำนวณพลศาสตร์ของไหล (Computational Fluid Dynamics: CFD) ที่คาดการณ์การไหลของอากาศรอบตัวเครื่องบินไว้ ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจระดับเสียงที่เกิดจากคลื่นกระแทกได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
เครื่องบิน X59 ลำจริง ซึ่งสร้างโดยบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน สกังก์เวิกส์ (Lockheed Martin Skunk Works) ในเมืองปาล์มเดล รัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบภาคพื้นดินขั้นสุดท้ายก่อนจะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อทำการบินครั้งประวัติศาสตร์ในปีนี้
ข้อมูลที่ได้จากภารกิจเควสส์ (Quesst) และเครื่องบิน X-59 จะถูกนำไปใช้ในการสร้างเครื่องมือออกแบบและเทคโนโลยีสำหรับเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ที่เงียบกว่าเดิม เพื่อเปิดประตูสู่ยุคใหม่ของการเดินทางทางอากาศที่รวดเร็ว โดยไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้คนบนภาคพื้นดินอีกต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง: NASA
- X-59 Model Tested in Japanese Supersonic Wind Tunnel