
นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) ดวงหนึ่งที่มีพฤติกรรมแปลกประหลาด โดยมันโคจรเข้าใกล้ดาวฤกษ์แม่ของมันมากเสียจนแรงโน้มถ่วงมหาศาลจากวงโคจรที่รวดเร็วของมันได้กระตุ้นให้ดาวฤกษ์เกิดการปะทุของพลาสมาอย่างรุนแรง ซึ่งพลาสมาที่ปะทุออกมานี้กลับพุ่งเป้ามาที่ตัวดาวเคราะห์เอง
ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า เอชไอพี 67522 บี (HIP 67522 b) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 417 ปีแสง โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ของมันซึ่งมีชื่อว่า เอชไอพี 67522 (HIP 67522) ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ ขนาดใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี แต่มีความหนาแน่นต่ำมากจนถูกเปรียบว่า “ปุยเหมือนสายไหม”
จุดที่ทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้มีความพิเศษคือวงโคจรของมันที่แคบและรวดเร็วมาก โดยใช้เวลาเพียง 7 วันในการโคจรรอบดาวฤกษ์แม่หนึ่งรอบ ซึ่งนับว่าใกล้ชิดอย่างยิ่งในทางดาราศาสตร์ การโคจรในระยะประชิดนี้ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางแรงโน้มถ่วงและสนามแม่เหล็กอย่างรุนแรงกับดาวฤกษ์แม่ของมัน
ดาวฤกษ์ เอชไอพี 67522 เป็นดาวฤกษ์อายุน้อยที่มีพลังงานสูงและมีสนามแม่เหล็กที่รุนแรง เมื่อดาวเคราะห์ เอชไอพี 67522 บี โคจรผ่านเข้าไปในบริเวณสนามแม่เหล็กของดาวฤกษ์ มันได้ดึงและบิดเส้นแรงแม่เหล็ก จนทำให้เกิดการปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของการลุกจ้า หรือการปะทุของพลาสมาบนพื้นผิวของดาวฤกษ์
ปรากฏการณ์นี้นับเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์มีหลักฐานยืนยันโดยตรงว่า ดาวเคราะห์สามารถชักนำให้ดาวฤกษ์แม่ของมันเกิดการปะทุได้ สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ พลังงานและอนุภาคที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการปะทุเหล่านี้ กลับพุ่งตรงมายังดาวเคราะห์ เอชไอพี 67522 บี ทำให้ตัวมันเองต้องรับรังสีพลังงานสูงในปริมาณที่มากกว่าปกติถึง 6 เท่า
การถูกระดมยิงด้วยพลาสมาและรังสีพลังงานสูงอย่างต่อเนื่องนี้ กำลังทำลายชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ เอชไอพี 67522 บี อย่างช้าๆ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าภายในช่วง 100 ล้านปีข้างหน้า ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจสูญเสียมวลบรรยากาศไปมหาศาล จนขนาดของมันอาจหดเล็กลงจากดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ขนาดเท่าดาวพฤหัสบดี กลายเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กระดับดาวเนปจูนร้อน
การค้นพบนี้ ทำให้นักดาราศาสตร์เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการของระบบดาวเคราะห์ในช่วงแรกเริ่ม และความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างดาวฤกษ์กับดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่ใกล้ชิด ซึ่งกรณีของ เอชไอพี 67522 บี ถือเป็นห้องทดลองในธรรมชาติที่หาได้ยากยิ่ง สำหรับศึกษาการสูญเสียชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ในสภาวะแวดล้อมที่สุดขั้ว
การค้นพบและศึกษาดาวเคราะห์ดวงนี้อาศัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศหลายตัว รวมถึงดาวเทียม TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) ขององค์การนาซา (NASA) และดาวเทียม CHEOPS (CHaracterising ExOPlanet Satellite) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA)
ข้อมูลอ้างอิง: NASA
- Discovery Alert: Flaring Star, Toasted Planet