
ภาพอันงดงามของกาแล็กซี เอ็นจีซี 1275 (NGC 1275) นี้ บันทึกโดยกล้องถ่ายภาพสำรวจขั้นสูง (Advanced Camera for Surveys) บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2549 ภาพนี้เผยให้เห็นรายละเอียดและความละเอียดสูงของโครงสร้างเส้นใยอันเปราะบาง ปรากฏเป็นสายใยสีแดงคล้ายลูกไม้แผ่กระจายอยู่รอบใจกลางกาแล็กซีที่สว่างไสว
เส้นใยสสารเหล่านี้มีความเย็น แม้ว่าจะล่องลอยอยู่ท่ามกลางแก๊สร้อนระอุที่มีอุณหภูมิสูงถึง 55 ล้านองศาเซลเซียส แต่พวกมันถูกพยุงไว้ด้วยสนามแม่เหล็กอันทรงพลัง ซึ่งช่วยรักษารูปร่างของมันไว้ และยังแสดงให้เห็นถึงกระบวนการถ่ายเทพลังงานจาก #หลุมดำมวลยิ่งยวด บริเวณใจกลางกาแล็กซีออกสู่แก๊สโดยรอบ
จากการสังเกตโครงสร้างเส้นใยเหล่านี้ นับเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถประเมินความเข้มของสนามแม่เหล็กได้สำเร็จ ข้อมูลนี้ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า สนามแม่เหล็กระหว่างกาแล็กซีช่วยรักษาโครงสร้างของเส้นใยเหล่านี้ไว้ได้อย่างไร ไม่ให้ยุบตัวลงจากแรงโน้มถ่วงหรือสลายไปจากความปั่นป่วนรุนแรงภายใน #กระจุกกาแล็กซี ตลอดช่วงอายุขัยกว่า 100 ล้านปีของมัน
นี่เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถแยกแยะเส้นใยแต่ละเส้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่นี้ได้อย่างละเอียด โดยสามารถระบุเส้นใยที่มีขนาดความกว้างเพียง 200 ปีแสงได้ ในขณะที่โครงสร้างเส้นใยทั้งหมดที่เห็นในภาพนั้นอาจมีความยาวได้ถึง 200,000 ปีแสง และภาพถ่ายทั้งหมดนี้มีความกว้างประมาณ 260,000 ปีแสง
นอกจากนี้ ในภาพยังปรากฏแนวฝุ่นที่เด่นชัด ซึ่งมาจากกาแล็กซีกังหันอีกแห่งหนึ่งที่แยกจากกัน กาแล็กซีดังกล่าวตั้งอยู่ซ้อนทับบางส่วนด้านหน้าของกาแล็กซีทรงรีขนาดมหึมาที่เป็นศูนย์กลางของกระจุกกาแล็กซี และถูกแรงโน้มถ่วงไทดัล (tidal gravitational forces) ภายในกระจุกกาแล็กซีฉีกกระชากจนเสียรูปทรง นอกจากนี้เรายังสามารถมองเห็นเส้นใยสีน้ำเงินของดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่พาดผ่านภาพนี้อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง: NASA, ESA and Andy Fabian
- Magnetic monster NGC 1275