
เช้าวันที่ 26 ก.ค. 68 นาธาน รูเซอร์ ได้โพสต์ข้อมูลข่าวกองทัพไทยออกมายืนยันการเข้าควบคุมพื้นที่ยอดเขาภูมะเขือ ได้สำเร็จในวันที่สองของการปะทะกับกองกำลังกัมพูชา โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก อยู่ห่างจากปราสาทพระวิหาร ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 กองกำลังกัมพูชาได้สร้างถนนเลียบตามสันเขาภูมะเขือและเสริมความแข็งแกร่งของที่มั่นบนยอดสันเขา (ตามภาพเส้นสีขาว) การวางกำลังลักษณะนี้ทำให้ที่มั่นดังกล่าวเป็นหนึ่งในไม่กี่จุดตลอดแนวชายแดนที่ทหารกัมพูชาได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ โดยอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าทหารไทย
ต่อมาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กองกำลังฝ่ายไทยตรวจพบการเคลื่อนไหวของรถแบ็กโฮและรถขุดดินซึ่งกำลังขุดสนามเพลาะในบริเวณระหว่างที่มั่นของไทยและกัมพูชาบนภูมะเขือ ซึ่งเป็นชนวนของความตึงเครียดครั้งล่าสุด
รายงานระบุว่า การปะทะเพื่อเข้ายึดที่มั่นดังกล่าวเป็นไปอย่างดุเดือด โดยฝ่ายไทยใช้การยิงปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศสนับสนุนการบุกของทหารราบ ปฏิบัติการครั้งนี้สามารถยึดคืนพื้นที่ได้ประมาณ 0.65 ตารางกิโลเมตร
นอกจากนี้ ในวันแรกของการปะทะ กองทัพไทยได้ทำลายระบบเคเบิลคาร์ลำเลียงเสบียงของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งใช้สำหรับขนส่งยุทธปัจจัยและเสบียงขึ้นไปยังสันเขาสูงประมาณ 150 เมตร
สำหรับนายนาธาน รูเซอร์ (Nathan Ruser) เป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมและผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองจากแหล่งข้อมูลเปิด เขามีตำแหน่งเป็นนักวิเคราะห์ที่ สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute: ASPI) ในโครงการความมั่นคงไซเบอร์ เทคโนโลยี และความปลอดภัย
นายรูเซอร์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลสาธารณะในการวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ขัดแย้งต่างๆ ทั่วโลก เช่น ในประเทศยูเครน, เมียนมา และล่าสุดคือความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งทำให้สื่อต่างๆ รวมถึงในประเทศไทย นำข้อมูลของเขาไปอ้างอิงในการรายงานข่าว
เครดิตภาพและข้อมูลโดย: Nathan Ruser