
9 เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ที่มาจากการสำรวจอวกาศ
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ด้วยภารกิจการเดินทางไปยังดวงจันทร์ ดาวอังคาร และสู่ห้วงอวกาศ ได้นำพาไปสู่การประดิษฐ์เทคโนโลยีใหม่ๆ มากมายเพื่อใช้ในการสำรวจอวกาศ ซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา และนี่คือตัวอย่างของ 9 เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นผลพลอยได้มาจากการสำรวจอวกาศ
1. กล้องโทรศัพท์มือถือ (Camera Phones)
ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 องค์กรบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ นาซา (NASA) มีความต้องการอย่างมากในการพัฒนากล้องที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และใช้พลังงานต่ำ เพื่อนำไปติดตั้งบนยานอวกาศและดาวเทียม สำหรับการถ่ายภาพโลก ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์อื่นๆ กล้องถ่ายภาพแบบเดิมในยุคนั้นมีขนาดใหญ่ เทอะทะ และต้องการพลังงานจำนวนมาก ซึ่งไม่เหมาะสมกับการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่จำกัดของอวกาศ
หนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่เป็นรากฐานของกล้องโทรศัพท์มือถือคือ เซ็นเซอร์รับภาพแบบ CMOS (Complementary Metal-Oxide-Semiconductor) ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 วิศวกรของนาซาและห้องปฏิบัติการ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ได้เริ่มพัฒนาเซ็นเซอร์รับภาพแบบใหม่นี้ เพื่อทดแทนเทคโนโลยี CCD (Charge-Coupled Device) ที่มีขนาดใหญ่และใช้พลังงานสูงกว่า
เซ็นเซอร์ CMOS มีข้อดีหลายประการ เช่น มีขนาดเล็ก ผลิตได้ง่าย ใช้พลังงานต่ำ และสามารถรวมวงจรประมวลผลภาพไว้ในชิปเดียวกันได้ ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่จำกัดและอุปกรณ์พกพา แม้ว่าในช่วงแรกเซ็นเซอร์ CMOS จะยังมีคุณภาพด้อยกว่า CCD ในบางด้าน แต่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรยังคงพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่อง
2. รองเท้ากีฬา (Athletic Shoes)
การเดินทางและปฏิบัติงานในอวกาศเต็มไปด้วยความท้าทาย แรงโน้มถ่วงต่ำ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความจำเป็นในการปกป้องนักบินอวกาศจากอันตรายต่างๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรต้องคิดค้นวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ความทนทาน น้ำหนักเบา การดูดซับแรงกระแทก และความยืดหยุ่น
เทคโนโลยีที่ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นพื้นรองเท้าชั้นกลาง (Midsole) ในรองเท้ากีฬา เช่น โฟมที่มีคุณสมบัติในการดูดซับแรงกระแทกสูง ช่วยลดแรงกดที่เท้าและข้อต่อขณะวิ่งหรือออกกำลังกาย ตัวอย่างของเทคโนโลยีนี้ เช่น เทคโนโลยี “บูสต์” (Boost) ของอาดิดาส (Adidas) ซึ่งใช้วัสดุที่พัฒนามาจากอุตสาหกรรมอวกาศ
3. ฉนวนกันความร้อน (Home Insulation)
ในอวกาศมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันสุดขั้ว ทั้งร้อนจัดและเย็นจัด จึงนำไปสู่การพัฒนาฉนวนของ NASA โดยผลิตจากอลูมิเนียมพอลิเมอร์ เพื่อรักษาสภาพอากาศที่รู้สึกสบายภายในยานอวกาศ ซึ่งปัจจุบันนำมาใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในบ้าน และที่อยู่อาศัย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดการความร้อนและความเย็นภายในบ้าน
4. นมผงดัดแปลงสำหรับทารก (Baby Formula)
ส่วนประกอบที่ช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการในสูตรสำหรับนมผงดัดแปลงสำหรับทารกส่วนใหญ่ สามารถสืบย้อนต้นกำเนิดกลับไปสู่งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก NASA ซึ่งใช้สาหร่ายเป็นอาหารเลี้ยงนักบินอวกาศเพื่อเพิ่มระยะเวลาการปฏิบัติภารกิจในอวกาศ
5. แขนขาเทียม (Artificial Limbs)
ในช่วงแรกของการสำรวจอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการอวกาศของ NASA (นาซา) หรือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ได้มีการคิดค้นและพัฒนาวัสดุใหม่ๆ ที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ เพื่อนำไปใช้ในการสร้างยานอวกาศและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรงในอวกาศ วัสดุเหล่านี้ เช่น เส้นใยคาร์บอน (Carbon Fiber) และไทเทเนียมอัลลอย (Titanium Alloy) ได้กลายเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตแขนขาเทียมที่มีน้ำหนักเบา ทนทาน และสามารถตอบสนองการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. หูฟังไร้สาย (Wireless Headsets)
NASA ได้สร้างระบบสื่อสารแบบแฮนด์ฟรีที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งจะช่วยให้นักบินอวกาศสามารถสื่อสารกับทีมต่างๆ บนโลกได้ เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ในภารกิจ Mercury และ Apollo
ย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) สถาบันวิจัย ITT Labs ได้รับการติดต่อจาก NASA ซึ่งเป็นพันธมิตรกันให้ช่วยพัฒนาวิทยุสื่อสารแบบไร้สาย เพื่อให้นักบินอวกาศสามารถใช้ติดต่อสื่อสารได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแค่วิทยุสื่อสารที่อยู่บนยานอวกาศเพียงอย่างเดียว การพัฒนาในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพราะก่อนหน้านั้น Gus Grissom นักบินอวกาศในโครงการ Mercury เกือบเสียชีวิตจากอุบัติเหตุน้ำท่วมภายในแคปซูลกู้ชีพ เพราะเขาไม่สามารถติดต่อกับภายนอกได้ เนื่องจากวิทยุสื่อสารของตัวแคปซูลเกิดความเสียหาย
ทาง NASA ได้ตกลงเป็นพันธมิตรร่วมกับ Planctronics เพื่อช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับหูฟังอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับลดขนาด, ปรับปรุงคุณภาพของการสื่อสารไร้สาย, ระบบตัดเสียงรบกวน ฯลฯ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ได้วางรากฐานสำคัญ ให้กับหูฟังแบบไร้สายที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน
7. เมมโมรี่โฟม (Memory Foam)
ที่นอนเมมโมรี่โฟม ที่สัมผัสได้ถึงความนุ่มสบายเข้ากับสรีระของมนุษย์ เพื่อให้ความรู้สึกสบาย เกิดจากโฟมที่พัฒนาโดย NASA ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 โดยพัฒนาขึ้นมาเพื่อการดูดซับแรงกระแทกสำหรับนักบินอวกาศ
8. โน้ตบุ๊กและเมาส์คอมพิวเตอร์ (Laptop and the computer mouse)
คอมพิวเตอร์พกพาเครื่องแรกที่มีการออกแบบแบบฝาพับ ถูกสร้างขึ้นโดย NASA สำหรับโครงการกระสวยอวกาศ ความก้าวหน้าด้านการออกแบบสำหรับรุ่นต่อๆ มาจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใหม่ ในปี 1960 นักวิจัยจากหน่วยงานอวกาศพยายามทำให้คอมพิวเตอร์มีการโต้ตอบได้มากขึ้น โดยมีแนวคิดว่าจะจัดการกับข้อมูลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างไรให้ดีที่สุด จึงนำไปสู่การกำเนิดของเมาส์คอมพิวเตอร์
9. CT Scan (Computerized Tomography Scan)
เทคโนโลยีการประมวลผลสัญญาณดิจิทัลที่ NASA เป็นผู้บุกเบิกในระหว่างภารกิจ Apollo สำหรับภาพถ่ายดวงจันทร์ที่ปรับปรุงด้วยคอมพิวเตอร์ ถือเป็นรากฐานของเทคนิคการถ่ายภาพร่างกายขั้นสูง เช่น CT scan ที่ใช้ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วยรังสีเอกซ์
อ้างอิงข้อมูล
https://www.morganstanley.com/Themes/global-space-economy
You may also like
เรื่องยอดนิยม
9 เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ที่มาจากการสำรวจอวกาศ (3,459)
บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) นักบินอวกาศนาซา (3,177)
จีนเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจอวกาศห้วงลึก หลังจากเก็บตัวอย่างด้านไกลของดวงจันทร์ (2,757)
ดินดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ 5 ในงาน อว. แฟร์ 22-28 ก.ค. 67 (2,716)
SpaceX กำหนดปล่อยภารกิจ Polaris Dawn จะมีการเดินอวกาศ (Spacewalk) โดยเอกชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ (2,546)