
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสิ่งที่อาจเป็นหินจากโลกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยรู้จัก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนขนาด 2 เซนติเมตร ที่ฝังอยู่ในหินขนาดใหญ่บนดวงจันทร์ที่เก็บรวบรวมโดยนักบินอวกาศอะพอลโล (Apollo) ในปี ค.ศ. 1971 แท้จริงแล้วอาจเป็นชิ้นส่วนอายุ 4,000 ล้านปีจากโลกของเราเอง การค้นพบครั้งนี้ช่วยให้เราเข้าใจภาพรวมของโลกยุคแรกเริ่ม และการพุ่งชนของอุกกาบาตที่เปลี่ยนแปลงโลกของเราในช่วงเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
มีข้อสมมติฐานที่เชื่อว่าการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยได้กระแทกมันให้หลุดออกจากโลก และลอยไปถึงดวงจันทร์ ซึ่งในขณะนั้นดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่าปัจจุบันถึงสามเท่า หลังจากนั้น ชิ้นส่วนนี้ได้ถูกห่อหุ้มอยู่ในหินเบรคเซีย (breccia) ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นหินที่มีส่วนประกอบหลากหลาย จนกระทั่งนักบินอวกาศอะพอลโล 14 (Apollo 14) ได้นำกลับมายังโลกในปี ค.ศ. 1971
เอลิซาเบธ เบลล์ (Elizabeth Bell) นักธรณีเคมีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (University of California, Los Angeles) กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่มีการตีความว่าหินจากดวงจันทร์เป็นอุกกาบาตที่มาจากโลก แม้ว่านักธรณีวิทยาจะเคยพบอุกกาบาตบนโลกที่มาจากดวงจันทร์ ดาวอังคาร และดาวเคราะห์น้อย”
ทีมวิจัยนำโดย เดวิด คริง (David Kring) นักธรณีวิทยาดวงจันทร์จากสถาบันดวงจันทร์และดาวเคราะห์ (Lunar and Planetary Institute) ในฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ได้ตรวจพบธาตุร่องรอยในแร่ธาตุของหินก้อนนี้ ซึ่งประกอบด้วยควอตซ์ (quartz) เฟลด์สปาร์ (feldspar) และผลึกเซอร์คอน (zircon crystals) ซึ่งคล้ายกับหินแกรนิต โดยการวัดยูเรเนียม และผลิตภัณฑ์การสลายตัวในเซอร์คอน ทีมงานสามารถกำหนดอายุการก่อตัวของหินได้ ในขณะที่ระดับไทเทเนียม (titanium) ช่วยเปิดเผยอุณหภูมิและความดันในช่วงเวลานั้น นอกจากนี้ ธาตุร่องรอยอื่นๆ เช่น ซีเรียม (cerium) ยังบ่งชี้ถึงปริมาณน้ำที่น่าจะมีอยู่
ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าหินก้อนนี้ก่อตัวขึ้นในสภาพแวดล้อมที่อุดมด้วยน้ำ ภายใต้อุณหภูมิและความดันที่สอดคล้องกับความลึก 19 กิโลเมตรใต้พื้นผิวโลก หรือประมาณ 170 กิโลเมตรในดวงจันทร์ อย่างไรก็ตาม เครก โอ’นีล (Craig O’Neill) นักธรณีพลศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมคควอรี่ (Macquarie University) ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย (Sydney, Australia) สนับสนุนสมมติฐานว่ามีต้นกำเนิดจากโลก เนื่องจากความลึก 170 กิโลเมตรบนดวงจันทร์จะอยู่ลึกลงไปจากเปลือกดวงจันทร์มาก ซึ่งเป็นบริเวณที่หินแกรนิตไม่น่าจะก่อตัวขึ้นได้
หากหินก้อนนี้มาจากโลกจริง มันจะให้เบาะแสเกี่ยวกับยุคโบราณที่เรียกว่า ยุคเฮเดียน (Hadean) ประการแรก มันยืนยันว่าโลกถูกพุ่งชนด้วยดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่พอที่จะกระแทกหินไปถึงดวงจันทร์ได้ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าหินแกรนิตที่ประกอบขึ้นเป็นทวีปต่างๆ ของโลกนั้นกำลังก่อตัวขึ้นแล้ว
นอร์ม สลีป (Norm Sleep) นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) กล่าวว่า ดวงจันทร์อาจเป็นสถานที่ที่ดีกว่าในการค้นหาหินจากโลกยุคโบราณ เนื่องจากดวงจันทร์ไม่มีสภาพอากาศและกระบวนการทางธรณีวิทยาที่จะลบเลือนหินโบราณเหมือนบนโลก ถึงแม้ว่าอุกกาบาตจากโลกน่าจะมีอยู่เพียงเล็กน้อยบนพื้นผิวดวงจันทร์ แต่การพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายพันล้านปี ได้กวนพวกมันให้กระจายไปทั่วดินบนดวงจันทร์ ทำให้ง่ายต่อการพบชิ้นส่วนเล็กๆ ของโลกในตัวอย่างหินจากดวงจันทร์โดยบังเอิญ
นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มค้นหาชิ้นส่วนของโลกยุคแรกเริ่มในตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ที่นำกลับมาโดยโครงการอะพอลโลในไม่ช้า โดยหินเพียงส่วนน้อยจาก 382 กิโลกรัมที่นำกลับมาได้ถูกศึกษาไปแล้ว และเทคนิคการวิเคราะห์ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะมีความเข้าใจถึงชิ้นส่วนโลกยุคแรกเริ่มมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง: Richard A. Lovett
- Ancient Earth rock found on the moon