
เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เวลาประมาณ 03:17 น. กล้องบนสถานีอวกาศนานาชาติได้บันทึกภาพอันงดงามของโลกยามค่ำคืน ขณะโคจรอยู่เหนืออ่าวไทยที่ความสูงประมาณ 417 กิโลเมตร ภาพถ่ายนี้ได้เผยให้เห็นเส้นแสงของเมืองต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกายแสงจากพายุฟ้าคะนอง และชั้นบรรยากาศของโลกที่เรืองแสงอย่างสวยงาม
สิ่งที่เห็นเป็นเส้นแสงยาวพาดผ่านพื้นผิวโลกนั้นคือแสงไฟจากเมืองต่างๆ ที่ส่องสว่างในยามค่ำคืน ภาพที่ปรากฏเป็นเส้นเกิดจากเทคนิคการถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนาน (long-exposure photography) ประกอบกับความเร็วในการโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึงประมาณ 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ชัตเตอร์ของกล้องเปิดค้างไว้ ตำแหน่งของสถานีอวกาศได้เคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้แสงไฟที่อยู่นิ่งบนพื้นโลกถูกบันทึกเป็นเส้นแสงยาวตามทิศทางการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศ
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ปรากฏในภาพ คือแถบแสงสีเขียวและส้มจางๆ ที่โค้งไปตามขอบโลก แสงนี้เรียกว่า แอร์โกลว์ (airglow) หรือการเรืองแสงของบรรยากาศ ซึ่งแตกต่างจากปรากฏการณ์แสงเหนือ-แสงใต้ (Aurora)
แอร์โกลว์เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาทั่วทั้งโลก เกิดจากการที่อะตอมและโมเลกุลในชั้นบรรยากาศชั้นบน โดยเฉพาะออกซิเจนและโซเดียม ถูกกระตุ้นด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และจะค่อยๆ ปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ออกมาในรูปของแสงที่มองเห็นได้ในตอนกลางคืน ทำให้เกิดเป็นม่านแสงบางๆ ที่สวยงามห่อหุ้มโลกของเราไว้
ภาพถ่ายใบนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นความสวยงามของโลกยามค่ำคืน แต่ยังเป็นการบันทึกปฏิสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมของมนุษย์ (แสงไฟจากเมือง) และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ (พายุและแอร์โกลว์) ได้อย่างชัดเจนจากมุมมองอันเป็นเอกลักษณ์ของสถานีอวกาศนานาชาติ
เครดิตภาพ: NASA/ISS