
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ของนาซา และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้บันทึกภาพอันน่าทึ่งของกาแล็กซี NGC4388 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เผยให้เห็นลักษณะที่ผสมผสานกันอย่างน่าแปลกใจระหว่างกาแล็กซีสองประเภทที่แตกต่างกัน
กาแล็กซี NGC 4388 ตั้งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 60 ล้านปีแสง ในทิศทางของกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo Constellation) และเป็นสมาชิกของกระจุกกาแล็กซีเวอร์โก (Virgo Cluster) ซึ่งเป็นแหล่งรวมกาแล็กซีกว่า 1,300 แห่งที่อยู่รวมกันอย่างหนาแน่นด้วยแรงโน้มถ่วงมหาศาล
ภาพล่าสุดจากกล้องฮับเบิล เผยให้เห็นว่า NGC 4388 มีลักษณะที่ขัดแย้งกันในตัวเอง บริเวณขอบนอกของกาแล็กซีนั้นดูเรียบเนียนและไม่มีลักษณะเด่นชัด ซึ่งเป็นคุณสมบัติทั่วไปของกาแล็กซีรูปไข่ (Elliptical Galaxy) แต่เมื่อมองเข้ามาที่ใจกลาง กลับปรากฏแถบฝุ่นหนาทึบอยู่ในระนาบของแขนกังหันสมมาตรสองข้างที่ยื่นออกมาจากแกนกลางอันสว่างไสว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของกาแล็กซีกังหัน (Spiral Galaxy)
ยิ่งไปกว่านั้น ภายในแขนกังหันยังประดับประดาไปด้วยจุดสีน้ำเงินสว่างจ้า ซึ่งบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของดาวฤกษ์เกิดใหม่จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่ากาแล็กซีแห่งนี้เพิ่งจะผ่านช่วงเวลาของการก่อกำเนิดดาวฤกษ์ครั้งใหญ่มาไม่นาน
นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า ลักษณะที่แปลกประหลาดและผสมปนเปกันนี้เป็นผลมาจาก Gravitational Interaction ระหว่าง NGC 4388 กับกาแล็กซีเพื่อนบ้านอื่นๆ ในกระจุกกาแล็กซีเวอร์โกอันแสนวุ่นวาย การเฉี่ยวชนกันในอวกาศ ตั้งแต่การกระทบกระทั่งกันเล็กน้อยไปจนถึงการชนกันอย่างจัง หรือแม้แต่การกลืนกินกันของกาแล็กซี สามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างของกาแล็กซีได้
กาแล็กซี NGC 4388 ถือเป็นห้องทดลองในธรรมชาติ ที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาถึงผลกระทบอันซับซ้อนของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกาแล็กซีในสภาพแวดล้อมที่หนาแน่น
ข้อมูลอ้างอิง: ESA/NASA
- Hubble Catches a Transformation in the Virgo Constellation