
วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1983 คือวันที่ประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกาต้องจารึกไว้ เมื่อ แซลลี ไรด์ (Sally Ride) นักฟิสิกส์และนักบินอวกาศหญิง ทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศกับภารกิจ STS-7 ของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ (Space Shuttle Challenger) สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะสตรีอเมริกันคนแรกที่เดินทางออกนอกโลก
การเดินทางในวันนั้นไม่เพียงแต่เป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับองค์การนาซา แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้กับผู้หญิง และเด็กผู้หญิง ทั่วโลกให้กล้าที่จะฝันและก้าวเดินในเส้นทางสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แซลลี คริสเทน ไรด์ (Sally Kristen Ride) เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1951 ในลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวัยเด็กเธอเป็นนักเทนนิส ที่มีพรสวรรค์และเคยได้รับการจัดอันดับในระดับประเทศ แต่ความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ ได้นำพาเธอสู่เส้นทางที่แตกต่าง ไรด์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีถึงสองสาขา คือ ฟิสิกส์และภาษาอังกฤษ ก่อนจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (Astrophysics) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University)
ในปี ค.ศ. 1977 ขณะที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา ไรด์ได้เห็นประกาศรับสมัครนักบินอวกาศของนาซา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เปิดรับผู้หญิงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เธอจึงตัดสินใจสมัครและได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในนักบินอวกาศกลุ่มที่ 8 ของนาซา (NASA Astronaut Group 8) จากผู้สมัครกว่า 8,000 คน โดยในกลุ่มนี้มีผู้หญิงได้รับคัดเลือก 6 คน
ภารกิจประวัติศาสตร์ STS-7
หลังผ่านการฝึกฝนอย่างหนักเป็นเวลา 5 ปี ในที่สุดไรด์ก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจ (Mission Specialist) ในเที่ยวบิน STS-7 ของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ ร่วมกับลูกเรือชายอีก 4 คน
ในภารกิจที่กินเวลานาน 6 วันนี้ ไรด์มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมแขนกลของยาน (Canadarm) เพื่อปล่อยและเก็บดาวเทียมสื่อสาร นอกจากนี้เธอยังมีส่วนร่วมในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายอย่าง ซึ่งเธอได้ปฏิบัติภารกิจทุกอย่างอย่างราบรื่นและเปี่ยมด้วยความสามารถ แสดงให้โลกเห็นว่าผู้หญิงก็สามารถปฏิบัติงานในสภาวะไร้น้ำหนักที่ซับซ้อนและท้าทายได้ไม่ต่างจากผู้ชาย
ไรด์กลับขึ้นสู่อวกาศอีกครั้งในปี ค.ศ. 1984 กับภารกิจ STS-41G ซึ่งเป็นเที่ยวบินประวัติศาสตร์ที่มีนักบินอวกาศหญิงถึงสองคนเป็นครั้งแรกของสหรัฐฯ
หลังจากยุติบทบาทการเป็นนักบินอวกาศ แซลลี ไรด์ ยังคงอุทิศตนให้กับวงการวิทยาศาสตร์และการสำรวจอวกาศ เธอได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการไต่สวนอุบัติเหตุของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ในปี ค.ศ. 1986 และกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์โคลัมเบีย ในปี ค.ศ. 2003
นอกจากนี้ เธอยังหันมาทุ่มเทให้กับการส่งเสริมการศึกษาในสาขาสะเต็ม (STEM: Science, Technology, Engineering, and Mathematics) โดยเฉพาะกับเด็กผู้หญิงและเยาวชน เธอได้ก่อตั้งบริษัท แซลลี ไรด์ ไซเอนซ์ (Sally Ride Science) ขึ้นในปี ค.ศ. 2001 เพื่อสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้และจัดกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจวิทยาศาสตร์
แซลลี ไรด์ เสียชีวิตในปี ค.ศ. 2012 ในวัย 61 ปี แต่เรื่องราวและคุณูปการของเธอยังคงเป็นแสงสว่างนำทางและเป็นเครื่องยืนยันว่าไม่มีขีดจำกัดใดที่จะขวางกั้นศักยภาพของมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม