
ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ ผู้บุกเบิกชีววิทยาอวกาศไทย จุดประกายฝันสู่อวกาศ
ในโลกแห่งการสำรวจจักรวาลอันกว้างใหญ่ นอกเหนือจากภาพของนักบินอวกาศและวิศวกรผู้สร้างจรวดและยานอวกาศ ยังมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง เพื่อบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจในกลไกชีวิตนอกโลก ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์และนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astrobotany คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในบุคคลสำคัญของไทยที่ได้บุกเบิกชีววิทยาอวกาศ ของประเทศไทย และได้ผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งแรก ที่ได้ดำเนินการทดลองด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพในอวกาศ
เส้นทางการศึกษาของ ดร.ทัฏพงศ์ เริ่มต้นด้วยความสนใจในโลกของพืช โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อจบการศึกษาได้รับทุนรัฐบาลไทยเดินทางไปศึกษาต่อ ระดับปริญญาโท-เอก ณ Virginia Polytechnic Institute and State University ประเทศสหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านการปรับตัวของพืช ซึ่งได้เสริมสร้างทักษะการวิจัยและเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ความรู้ทางชีววิทยาในบริบทที่ท้าทายยิ่งขึ้น
ดร.ทัฏพงศ์ ได้เดินทางกลับประเทศไทยและรับตำแหน่งอาจารย์ประจำ ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเริ่มตั้งกลุ่มวิจัยเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืช จะสามารถปรับตัวและดำรงอยู่ได้อย่างไรในสภาพแวดล้อมอันสุดขั้วของอวกาศ ซึ่งมีความแตกต่างจากโลกของเราอย่างสิ้นเชิงได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำหรือสูง รังสีคอสมิกที่เข้มข้น และความผันผวนของอุณหภูมิที่รุนแรง
ผลงานอันโดดเด่นของ ดร.ทัฏพงศ์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพืชในการเป็นส่วนสำคัญของการเดินทางสำรวจอวกาศยุคใหม่ โครงการวิจัยที่ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติคือการศึกษาไข่น้ำ พืชดอกที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก เพื่อประเมินศักยภาพในการเป็นแหล่งอาหารที่มีประสิทธิภาพสำหรับการเดินทางในอวกาศระยะยาว ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และสำนักกิจการอวกาศแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOOSA) โครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการบุกเบิกองค์ความรู้ใหม่ แต่ยังเป็นการวางรากฐานสำหรับการเกษตรกรรมอวกาศ และเป็นครั้งแรกที่นักวิจัยของประเทศไทยได้เดินทางเข้าร่วมปฏิบัติงาน ณ ศูนย์วิจัย ESTEC ขององค์การอวกาศยุโรป
อีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญในเส้นทางการวิจัยของ ดร.ทัฏพงศ์ คือการร่วมมือกับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) และ GISTDA ในด้าน space biology เพื่อนำ “ข้าวไทย” หลากหลายสายพันธุ์ขึ้นไปทดลองการเจริญเติบโตบนดาวเทียมวิจัยสือเจี้ยน ภายใต้ภารกิจ SJ-19 การทดลองอันท้าทายนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและพันธุกรรมของข้าวในสภาพแวดล้อมนอกโลก ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาเทคนิคการปลูกพืชในอวกาศ และยังยกระดับให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่แรกในประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการวิจัยสิ่งมีชีวิตในห้วงอวกาศ และยกระดับความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากความโดดเด่นในงานวิจัยร่วมกับ ESA และ CNSA แล้ว ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ ยังมีบทบาทสำคัญในโครงการ “Asian Herb in Space” ภารกิจ AHiS1 และ AHiS2 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของการทดลองทางวิทยาศาสตร์อวกาศของประเทศไทย โดยร่วมวิจัยและศึกษาการเจริญเติบโตของโหระพา ในสภาพแวดล้อมที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS National Lab) และ #โครงการราชพฤกษ์อวกาศ ที่เมล็ดพันธุ์ถูกส่งขึ้นไปยังห้องปฏิบัติการ Kibo Module ของ JAXA ณ สถานีอวกาศนานาชาติในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยยานอวกาศ Dragon ในภารกิจ SpaceX CRS-21 เป็นเวลาประมาณ 7 เดือน และได้นำเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์อวกาศมาศึกษาเปรียบเทียบกับการเจริญเติบโตของต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกจากเมล็ดบนโลก
ด้วยความทุ่มเทและความมุ่งมั่นอย่างไม่ย่อท้อ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาและนักวิจัยในประเทศ ให้หันมาสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการสำรวจอวกาศ รวมถึงการพัฒนากำลังคนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำต่างประเทศ โดยการเดินหน้าลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการวิจัยและพัฒนาสำรวจอวกาศระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และ DSEL (Deep Space Exploration Lab) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ CNSA ที่ดูแลโครงการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (International Lunar Research Station: ILRS) เพื่อเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วมเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนวงการอวกาศของประเทศ
ในวันที่มนุษยชาติกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการสำรวจอวกาศอย่างจริงจัง ชื่อของ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ จะยังคงปรากฏในฐานะผู้บุกเบิกและวางรากฐานให้กับแผนการด้านชีววิทยาอวกาศ (space biology) และโครงการอวกาศ (space program) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสานฝันของคนไทยให้สามารถเดินทางและดำรงชีวิตอยู่ได้ไกลถึงดวงดาวในอนาคต
เครดิตภาพ: Tatpong Tulyananda
You may also like
เรื่องยอดนิยม
9 เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ที่มาจากการสำรวจอวกาศ (3,457)
บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) นักบินอวกาศนาซา (3,177)
จีนเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจอวกาศห้วงลึก หลังจากเก็บตัวอย่างด้านไกลของดวงจันทร์ (2,757)
ดินดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ 5 ในงาน อว. แฟร์ 22-28 ก.ค. 67 (2,716)
SpaceX กำหนดปล่อยภารกิจ Polaris Dawn จะมีการเดินอวกาศ (Spacewalk) โดยเอกชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ (2,546)