
ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ดวงหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนดาวเคราะห์ดวงใดในระบบสุริยะของเรา มันมีชั้นบรรยากาศที่ฟูนุ่มราวกับขนมสายไหม และมีเมฆที่ก่อให้เกิดฝนซึ่งไม่ได้เป็นหยดน้ำ แต่เป็นเม็ดทราย
ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า ดับเบิลยูเอเอสพี 107บี (WASP-107b) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 200 ปีแสงในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) จากการสังเกตการณ์โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ของนาซา (NASA) และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้มองลึกลงไปในชั้นบรรยากาศของมันและค้นพบองค์ประกอบที่น่าประหลาดใจ
WASP-107b ได้รับฉายาว่าเป็นดาวเคราะห์ฟูนุ่ม (fluffy planet) หรือ “ดาวเคราะห์สายไหม” (cotton candy planet) เนื่องจากมีขนาดใหญ่เกือบเท่าดาวพฤหัสบดี แต่กลับมีมวลน้อยกว่าดาวพฤหัสบดีถึงเกือบ 10 เท่า ทำให้มันเป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา คุณสมบัติที่ฟูนุ่มนี้เองที่เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาชั้นบรรยากาศของมันได้ลึกกว่าดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ที่มีความหนาแน่นสูงโดยทั่วไป
การค้นพบที่น่าทึ่งที่สุดคือการมีอยู่ของเมฆที่ประกอบด้วยอนุภาคซิลิเกต ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของทรายบนโลก ในชั้นบรรยากาศของ WASP-107b เมฆทรายเหล่านี้ก่อตัวขึ้นและมีวัฏจักรคล้ายกับวัฏจักรของน้ำบนโลก
นอกจากเมฆทรายแล้ว กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ยังตรวจพบไอน้ำและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในชั้นบรรยากาศของ WASP-107b ด้วย แต่กลับไม่พบร่องรอยของมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก การไม่มีอยู่ของมีเทนชี้ให้เห็นว่าภายในของดาวเคราะห์ดวงนี้น่าจะร้อนกว่าที่คาดการณ์ไว้
การค้นพบนี้ไม่เพียงแต่เผยให้เห็นสภาพอากาศสุดขั้วบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แต่ยังเป็นการปฏิวัติความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของดาวเคราะห์อีกด้วย มันแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายและซับซ้อนของโลกอื่นในจักรวาล ซึ่งท้าทายแบบจำลองเดิมๆ และเปิดมุมมองใหม่ให้กับวงการดาราศาสตร์
ข้อมูลอ้างอิง: Daily Galaxy
- Scientists Discover Bizarre ‘Alien’ Planet with Fluffy Atmosphere and Sand Rains