
จากการรวบรวมข้อมูลและการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับเหตุการณ์พุ่งชนครั้งใหญ่เมื่อกว่า 4,500 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของดวงจันทร์ ไม่เพียงแต่เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกยุคแรกเริ่มไปตลอดกาล แต่ยังอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ปูทางให้สิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นบนโลก
ย้อนกลับไปในยุคแรกเริ่มของระบบสุริยะ โลกในขณะนั้นยังเป็นเพียงดาวเคราะห์หินร้อนระอุที่เพิ่งก่อตัวขึ้นใหม่ จนกระทั่งดาวเคราะห์ขนาดเท่าดาวอังคารที่มีชื่อตามทฤษฎีว่า ธีอา (Theia) ได้พุ่งเข้าชนโลกอย่างรุนแรง การชนครั้งนี้เรียกว่า สมมติฐานการชนครั้งใหญ่ (Giant-Impact Hypothesis) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางที่สุดในปัจจุบันเกี่ยวกับการกำเนิดดวงจันทร์
แรงปะทะมหาศาลได้หลอมละลายพื้นผิวของโลกและธีอา เศษซากจากการชนซึ่งประกอบด้วยสสารจากทั้งสองดาวเคราะห์ได้กระจัดกระจายออกไปโคจรรอบโลก ก่อนจะรวมตัวกันเป็นดวงจันทร์บริวารของเราในที่สุด แต่นอกจากการสร้างดวงจันทร์แล้ว ผลกระทบจากการชนครั้งนี้ยังส่งอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อสภาพแวดล้อมของโลกยุคแรกในหลายมิติ ซึ่งเอื้อต่อการเริ่มต้นของชีวิต
หนึ่งในผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดของการชน คือการที่โลกได้รับองค์ประกอบทางเคมีที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต งานวิจัยด้านเคมีจักรวาล (Cosmochemistry) ชี้ว่า ธีอาอาจเป็นดาวเคราะห์ประเภทคอนไดรต์ชนิดคาร์บอน (Carbonaceous Chondrite) ซึ่งเป็นวัตถุที่อุดมไปด้วยธาตุสำคัญอย่างคาร์บอน ไนโตรเจน ซัลเฟอร์ (กำมะถัน) รวมถึงน้ำ ซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่เรารู้จัก การพุ่งชนครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการเติมวัตถุดิบแห่งชีวิตให้กับโลกในปริมาณมหาศาล
การมีอยู่ของดวงจันทร์ที่ก่อกำเนิดจากการชนครั้งนั้น มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเสถียรภาพให้กับโลก แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ช่วยรักษาแกนหมุนของโลกให้มีความเอียงในระดับที่ค่อนข้างคงที่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 23.5 องศา เสถียรภาพนี้ส่งผลให้โลกมีฤดูกาลที่แน่นอนและมีสภาพภูมิอากาศที่มั่นคงในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน หากไม่มีดวงจันทร์ แกนของโลกอาจเหวี่ยงไปมาจนสุดขั้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรงและบ่อยครั้งเกินกว่าที่สิ่งมีชีวิตจะปรับตัวได้ทัน
นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มยังเสนอว่า พลังงานมหาศาลจากการชนอาจทำให้เกิด Reducing Atmosphere ชั่วคราวขึ้นบนโลก ซึ่งเป็นสภาวะที่ขาดออกซิเจนอิสระ แต่เต็มไปด้วยแก๊สอย่างมีเทนและแอมโมเนีย บรรยากาศลักษณะนี้เอื้อต่อการสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์ที่ซับซ้อน เช่น กรดอะมิโนและอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งเป็นหน่วยโครงสร้างพื้นฐานของโปรตีนและสารพันธุกรรม อันเป็นบันไดขั้นแรกสุดของการก่อกำเนิดชีวิต
แม้เหตุการณ์การพุ่งชนของธีอา เป็นหายนะที่หลอมละลายโลกทั้งใบและทำลายล้างทุกสิ่งที่อาจมีอยู่ก่อนหน้า แต่มันก็ได้ทิ้งมรดกอันล้ำค่าไว้ให้ การชนครั้งประวัติศาสตร์นี้ไม่เพียงแต่ให้กำเนิดดวงจันทร์ที่ส่องสว่างบนท้องฟ้ายามค่ำคืน แต่ยังได้สร้างสภาวะแวดล้อมที่สมบูรณ์พร้อม ทั้งวัตถุดิบ สภาพภูมิอากาศที่มั่นคง และเคมีบรรยากาศที่เหมาะสม สำหรับการเริ่มต้นเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้
ข้อมูลอ้างอิง: Universe Today
- When Theia Struck Earth, it Helped Set the Stage for Life to Appear