
สำนักบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration – CNSA) ได้เผยแพร่ภาพแรกของยานสำรวจเทียนเวิ่น 2 (Tianwen-2) ซึ่งกำลังมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์กึ่งบริวาร (quasi-moon) ของโลก หลังจากที่ยานลำนี้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศอย่างเป็นความลับเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ภาพที่เผยแพร่ออกมาแสดงให้เห็นแผงโซลาร์เซลล์ทรงกลมของยานเทียนเวิ่น 2 ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับยานลูซี (Lucy) ขององค์การนาซา (NASA) ที่กำลังเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจัน (Trojan asteroids) ใกล้ดาวพฤหัสบดี การเผยแพร่ภาพนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สาธารณชนได้เห็นภาพจริงของยานเทียนเวิ่น 2 นับตั้งแต่การปล่อยยานเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 ด้วยจรวดลองมาร์ช 3บี (Long March 3B) จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง (Xichang Satellite Launch Center) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยไม่มีการถ่ายทอดสด
ยานเทียนเวิ่น 2 มีภารกิจหลักในการเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อย 2016 HO3 หรือที่รู้จักกันในชื่อ คามูโออาเลวา (Kamoʻoalewa) ซึ่งเป็นหนึ่งในดวงจันทร์กึ่งบริวารทั้งเจ็ดของโลก โดยยานมีกำหนดจะเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ในเดือนกรกฎาคม 2569 และจะใช้เวลาหลายเดือนในการโคจรและศึกษา ก่อนจะลงจอดเพื่อเก็บตัวอย่างหินกลับมายังโลกในช่วงปลายปี 2570
แถลงการณ์จาก CNSA เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ระบุว่า ยานเทียนเวิ่น 2 ทำงานได้อย่างราบรื่นและขณะนี้อยู่ห่างจากโลกประมาณ 3 ล้านกิโลเมตร ซึ่งไกลกว่าระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ถึง 8 เท่า
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า “คามูโออาเลวา” อาจเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของดวงจันทร์ที่หลุดออกมาจากการชนครั้งใหญ่ การศึกษาวิจัยจากยานเทียนเวิ่น 2 จึงอาจช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับการกำเนิดของระบบสุริยะและการมาของน้ำบนโลก
หลังจากภารกิจเก็บตัวอย่างจากคามูโออาเลวาเสร็จสิ้น ยานเทียนเวิ่น 2 จะใช้แรงโน้มถ่วงของโลกช่วยในการสวิงไปสำรวจดาวหางหลัก 311P/แพนสตาร์ส (311P/PanSTARRS) ซึ่งเป็นดาวหางที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างดาวหางและดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก (main asteroid belt) ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี
ข้อมูลอ้างอิง: Live Science
- First-ever image of China’s mysterious ‘quasi moon’ probe revealed weeks after it secretly launched into space