โลกของดาราศาสตร์กำลังตื่นเต้นกับการไขปริศนาครั้งใหญ่เกี่ยวกับเซเรส (Ceres) ดาวเคราะห์แคระที่ตั้งอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี นักวิทยาศาสตร์นาซา ได้ใช้ข้อมูลจากยานอวกาศดอว์น ที่ปลดประจำการไปแล้ว เพื่อไขปริศนาที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานหลายปี เกี่ยวกับการมีอยู่ของแอมโมเนียแข็งบนพื้นผิวของเซเรส ซึ่งตามหลักการแล้วไม่น่าจะคงสภาพอยู่ในบริเวณนั้นของอวกาศได้
แอมโมเนียแข็ง (frozen ammonia) เป็นสารประกอบที่เกิดจากการแข็งตัวของแอมโมเนียในอุณหภูมิที่ต่ำมาก ปกติแล้วแอมโมเนียแข็งมักพบในบริเวณที่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ เช่น ดาวเคราะห์ชั้นนอกและดาวบริวารของพวกมัน การค้นพบแอมโมเนียแข็งบนเซเรส ซึ่งอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยที่ค่อนข้างใกล้ดวงอาทิตย์ จึงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจและท้าทายความเข้าใจเดิมๆ ของนักวิทยาศาสตร์
ก่อนหน้านี้ มีทฤษฎีที่เสนอว่า เซเรสอาจก่อตัวขึ้นในระบบสุริยะชั้นนอกและเคลื่อนตัวเข้ามาในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลใหม่จากหลุมอุกกาบาต Consus Crater ที่มีขนาดกว้าง 40 ไมล์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลุมอุกกาบาตที่เก่าแก่ที่สุดบนเซเรส ได้เปิดเผยหลักฐานที่ชี้ว่าดาวเคราะห์แคระดวงนี้น่าจะก่อตัวขึ้นในตำแหน่งปัจจุบัน
ภายในหลุมอุกกาบาต นักวิทยาศาสตร์พบร่องรอยของน้ำเกลือที่อุดมไปด้วยแอมโมเนียม ซึ่งน่าจะขึ้นมาบนพื้นผิวดาวโดยภูเขาไฟน้ำแข็ง (cryovolcanoes) ของเซเรส ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่พ่นน้ำแข็งและโคลนออกมา ซึ่งหลักฐานใหม่นี้บ่งชี้ว่าแอมโมเนียมมีอยู่ลึกลงไปภายในเซเรสมานานหลายพันล้านปีแล้ว ซึ่งลบล้างความคิดที่ว่ามันมาจากส่วนอื่นของระบบสุริยะ
การค้นพบที่น่าตื่นเต้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Geophysical Research: Planets ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของ #ดาวเคราะห์แคระเซเรส และอาจนำไปสู่การไขปริศนาอื่น ๆ เกี่ยวกับระบบสุริยะของเราในอนาคต
เครดิตภาพและข้อมูลอ้างอิง : NASA
Dwarf planet Ceres: Origin in the asteroid belt?