นักวิทยาศาสตร์เคยตั้งสมมติฐานว่า ในช่วงต้นของระบบสุริยะ ดาวศุกร์เย็นกว่านี้และมีมหาสมุทรเช่นเดียวกับโลก

เชื่อกันว่า มหาสมุทรของดาวศุกร์หายไปเนื่องจากกระบวนการ ภาวะเรือนกระจกชื้น (moist greenhouse effect) ซึ่งเกิดมาจากปริมาณไอน้ำในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ที่เพิ่งเกิดมาไม่นานนั้น ถูกควบคุมโดยอัตราการระเหยของมหาสมุทร

แต่เนื่องจากไอน้ำเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพมาก จึงเกิดการสะสมตัวมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเกิด positive feedback cycle เพียงอุณหภูมิชั้นบรรยากาศสูงขึ้นเล็กน้อย ก็ก่อให้เกิดการเพิ่มของอัตราการระเหยของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งทำให้มีไอน้ำเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชั้นบรรยากาศอุ่นมากขึ้น และเกิดผลต่อเนื่องสลับกันต่อไปเรื่อย ๆ จนเกิดการระเหยหายไปหมดของมหาสมุทร ทำให้เกิดบรรยากาศที่ร้อนและเต็มไปด้วยไอน้ำของดาวศุกร์

ในท้ายที่สุด ไอน้ำแตกตัวออก โดยส่วนของไฮโดรเจนจะลอยหายไปในอวกาศระหว่างดาวเคราะห์ น้ำในชั้นบรรยากาศก็ค่อยๆ ลดลง

มหาสมุทรของดาวศุกร์ใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าที่จะเดือดและแห้งหายไป ?

งานวิจัยของ ศาสตราจารย์แอนดรูว์ อินเจอร์ซอลล์ (Andrew Ingersoll) แห่งสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือ แคลเทค (CalTech) ที่เมืองแพซาดีนา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ตีความข้อมูลจากภารกิจของยาน Venus Express ขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งโคจรรอบดาวศุกร์และส่งข้อมูลมายังโลกนานหลายปี ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2014 ก่อนสัญญาณขาดหายไป ซึ่งเสนอว่า มหาสมุทรที่เกิดขึ้นบนดาวศุกร์ในตอนแรก น่าจะต้องใช้เวลาในการระเหยประมาณหนึ่งพันล้านปี ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นมากที่จะให้สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่ได้สั้นเกินไปที่จะไม่มีโอกาสเกิดมีสิ่งมีชีวิตขึ้นมาเลย


ข้อมูลอ้างอิง

NASA Climate Modeling Suggests Venus May Have Been Habitable