
ยานลูซีเผยโฉมดาวเคราะห์น้อย Donaldjohanson รูปทรงประหลาด!
ยานอวกาศลูซี (Lucy) ของ NASA ได้สร้างความฮือฮาอีกครั้งในการสำรวจอวกาศ โดยล่าสุดได้เผยภาพถ่ายระยะใกล้ของดาวเคราะห์น้อย ที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ ชื่อว่า “ดอนัลด์จอห์นสัน” (Donaldjohanson) ซึ่งเป็นเศษวัตถุที่ก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 150 ล้านปีก่อน
ในระหว่างการเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อยเป็นครั้งที่สอง ยานลูซีได้บินผ่านในระยะประมาณ 960 กิโลเมตร จากดาวเคราะห์น้อยดอนัลด์จอห์นสัน เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2025 ที่ผ่านมา และขณะนี้ยานฯ ได้เริ่มส่งภาพถ่ายที่บันทึกไว้กลับมายังโลกแล้ว
ภาพถ่ายเหล่านี้แสดงให้เห็นการเคลื่อนที่ของยานอวกาศขณะบินผ่าน ดาวเคราะห์น้อยดอนัลด์จอห์นสัน โดยบันทึกภาพทุกๆ 2 วินาที เริ่มตั้งแต่เวลา 13:50 น. EDT (17:50 UTC) ของวันที่ 20 เมษายน 2025 แม้ว่าดาวเคราะห์น้อยจะหมุนรอบตัวเองช้ามาก แต่ภาพที่เห็นว่ามีการหมุนเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่ของยานอวกาศขณะบินผ่านในระยะ 1,600 ถึง 1,100 กิโลเมตร
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์เคยสังเกตพบว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างอย่างมากในช่วง 10 วัน ดังนั้น เมื่อทีมงานลูซีได้เห็นภาพแรกที่เผยให้เห็นลักษณะของวัตถุที่มีรูปร่างยาวรีคล้ายกับ “วัตถุคู่สัมผัส” (Contact Binary) หรือวัตถุที่เกิดจากการชนกันของวัตถุขนาดเล็กสองก้อน พวกเขาจึงไม่รู้สึกแปลกใจมากนัก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับทีมงานคือ รูปทรงที่แปลกประหลาดของส่วนคอแคบๆ ที่เชื่อมระหว่างสองส่วนของดาวเคราะห์น้อย ซึ่งดูคล้ายกับกรวยไอศกรีมสองอันวางซ้อนกัน
แฮล ลีไวสัน (Hal Levison) หัวหน้านักวิจัยของภารกิจลูซี จากสถาบันวิจัยตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest Research Institute) ในเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด กล่าวว่า “ดาวเคราะห์น้อยดอนัลด์จอห์นสันมีธรณีสัณฐานที่ซับซ้อนอย่างน่าทึ่ง เมื่อเราศึกษาโครงสร้างที่ซับซ้อนเหล่านี้ในรายละเอียด เราจะได้รับข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบและกระบวนการชนที่ก่อให้เกิดดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา”
ในภาพความละเอียดสูงชุดแรกนี้ ไม่สามารถมองเห็นดาวเคราะห์น้อยได้เต็มดวง เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยมีขนาดใหญ่กว่าขอบเขตการมองเห็นของอุปกรณ์ถ่ายภาพ ทีมงานต้องใช้เวลาถึงหนึ่งสัปดาห์ในการดาวน์โหลดข้อมูลที่เหลือทั้งหมดจากการเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อย ซึ่งข้อมูลชุดนี้จะช่วยให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเกี่ยวกับรูปร่างโดยรวมของดาวเคราะห์น้อย
ยานอวกาศลูซีจะใช้เวลาส่วนใหญ่เดินทางผ่านแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก (Main Asteroid Belt) และจะเข้าใกล้เป้าหมายหลักแรกของภารกิจ ซึ่งก็คือดาวเคราะห์น้อยทรอย (Trojan Asteroid) ของดาวพฤหัสบดีที่ชื่อว่า ยูริเบทีส (Eurybates) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2027
ข้อมูลอ้างอิง: NASA/Goddard/SwRI/Johns Hopkins APL
– NASA’s Lucy Spacecraft Images Asteroid Donaldjohanson
You may also like
เรื่องยอดนิยม
9 เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ที่มาจากการสำรวจอวกาศ (3,460)
บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) นักบินอวกาศนาซา (3,178)
จีนเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจอวกาศห้วงลึก หลังจากเก็บตัวอย่างด้านไกลของดวงจันทร์ (2,760)
ดินดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ 5 ในงาน อว. แฟร์ 22-28 ก.ค. 67 (2,716)
SpaceX กำหนดปล่อยภารกิจ Polaris Dawn จะมีการเดินอวกาศ (Spacewalk) โดยเอกชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ (2,547)