ภาคเอกชนหลายแห่งทั่วโลก เริ่มมองดวงจันทร์เป็นจุดหมายปลายทางของการทำธุรกิจ เช่น การส่งอัฐิมนุษย์ ไปจนถึงสร้างไม้กางเขน แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายอวกาศมารองรับอย่างชัดเจน จึงหวั่นว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศหากไร้การควบคุมที่ดีพอ

เมื่อเดือนมกราคม 2567 บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ชื่อ “แอสโทรโบติค (Astrobotic)” เพิ่งประสบความล้มเหลวในการนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ โดยในยานลำดังกล่าว ได้บรรทุกสิ่งของไปหลายชิ้น รวมถึงอัฐิมนุษย์และกระป๋องเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อโพคาริ สเวท (Pocari Sweat) จากญี่ปุ่น

บริษัทเอกชนหลายแห่งมีแผนที่จะนำยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อทำโครงการทางธุรกิจของตน และก่อให้เกิดความกังวลในแง่กฎหมายว่า มนุษย์สามารถทำอะไรบนดวงจันทร์ได้บ้าง

แม้สหรัฐฯ จะมีกฎหมายว่า สิ่งของที่ยานอวกาศจะสามารถบรรทุกออกจากโลกได้ จะต้องไม่ก่ออันตรายในด้านสุขภาพและความปลอดภัยต่อสาธารณะ รวมถึงความมั่นคงของสหรัฐฯ หรือพันธะระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ ผูกพันอยู่ แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดหรือมาตรฐานที่จะวางกรอบที่ชัดเจนว่า สามารถนำอะไรขึ้นไปสู่ดวงจันทร์หรือวัตถุบนท้องฟ้าอื่น ๆ ได้บ้าง

รอยเตอร์ระบุว่า ประเด็นข้างต้นจะยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น ในห้วงเวลาที่ NASA พึ่งพาภาคเอกชนอย่างหนักเพื่อลดต้นทุนในการเดินทางไปยังดวงจันทร์ และยังวางวิสัยทัศน์ในระยะยาวในการมีฐานบนดวงจันทร์ ซึ่งจะกระตุ้นการแข่งขันในภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น

นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอวกาศกังวลว่า หากไร้การกำกับดูแล บริษัทสหรัฐฯ อาจไปขัดแย้งกับประเทศอื่นที่มีปฏิบัติการบนดวงจันทร์ และอาจเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศได้หากมีการตีความว่า การดำเนินการของภาคเอกชนคือการครอบครองดินแดนหรือประกาศพื้นที่อธิปไตย

ไม่เพียงเท่านั้น การไม่มีกฎหมายควบคุมก็เสี่ยงที่จะทำให้รัฐบาลวอชิงตันละเมิดสนธิสัญญาว่าด้วยอวกาศ ค.ศ. 1967 หรือ Outer Space Treaty ซึ่งระบุถึงหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศ รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการเกี่ยวกับอวกาศของหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ

ประเด็นนี้เป็นโจทย์ที่สหรัฐฯ พยายามหาแนวทางกำกับดูแลกิจกรรมเชิงพาณิชย์บนอวกาศที่ไม่เข้มงวด ไปจนปิดกั้นนวัตกรรมตามที่คนในแวดวงธุรกิจกังวล

ก่อนหน้านี้ บ.เซเลสทิส (Celestis) จากรัฐเท็กซัส ที่นำอัฐิมนุษย์ขึ้นดวงจันทร์ไปกับยานอวกาศของ บ.แอสโทรโบติค สร้างความไม่พอใจจากชนพื้นเมืองเผ่านาวาโฮ ที่มองว่าเป็นการลบหลู่ดวงจันทร์ ซึ่งชนเผ่าถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์

นักกฎหมายระบุว่า มีเพียงไม่กี่ประเทศที่กำหนดมาตรฐานการทำกิจกรรมบนดวงจันทร์ และในแง่กฎหมายระหว่างประเทศก็ยังมีความคลุมเครืออยู่


ข้อมูลข่าว : Reuter