วันเวลาที่ผ่านไปแต่ละปี ดวงจันทร์ดาวบริวารของโลก ก็ยังมีหน้าตาเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน

หลุมอุกกาบาตต่าง ๆ ก็ยังอยู่ถาวรแบบนั้น แต่ว่าดวงจันทร์ไม่ได้มีลักษณะเช่นนี้มาตั้งแต่แรก เดี๋ยวเรามาย้อนเวลาดูกันว่า ดวงจันทร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า เมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีก่อน ดวงจันทร์น่าจะเริ่มต้นจากการเป็นก้อนหินหนืดขนาดยักษ์ ที่ก่อตัวขึ้นจากซากที่หลงเหลือจากการชนโลก หลังจากที่วัตถุร้อนรวมตัวเป็นทรงกลม แมกมาก็เริ่มเย็นตัวลง จนในที่สุดก็ก่อตัวเป็นเปลือกบนพื้นผิวดวงจันทร์ โดยมีแมกมาอยู่ด้านใต้

ต่อมาเมื่อประมาณ 4 พัน 3 ร้อยล้านปีก่อน อุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ก่อตัวเป็นแอ่งเอตเคน-ขั้วใต้ (South Pole-Aitken basin) และเศษซากกระจายตัวออกไปไกลถึงฝั่งตรงข้ามของดวงจันทร์ ผลจากการชนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลา ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับพื้นผิวของดวงจันทร์ ก่อตัวเป็นรูปร่างของภูมิประเทศ บางส่วนก่อตัวเป็นแอ่งขนาดใหญ่

เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ดวงจันทร์ยังไม่เย็นตัวลงอย่างเต็มที่ ลาวาจึงเริ่มซึมออกมาตามรอยแตก การปะทุของภูเขาไฟส่งผลให้ลาวากระจายไปทั่วหลุมอุกกาบาต แล้วค่อยๆ ไหลเข้าไปในหลุมอุกกาบาต และเย็นตัวลงในที่สุด

ประมาณหนึ่งพันล้านปีก่อน การระเบิดของภูเขาไฟบนดวงจันทร์สิ้นสุดลง แต่ก็ยังมีอุกกาบาตมาชนดวงจันทร์อยู่ ซึ่งผลการชนครั้งใหญ่ที่สุด และเป็นที่รู้จักดี ได้แก่ หลุมอุกกาบาตไทโค (Tycho), โคเปอร์นิคัส (Copernicus) และอริสทาร์คัส (Aristarchus)

และในที่สุด ก็มาถึงช่วงเวลาที่เราเห็นเป็นดวงจันทร์ในทุกวันนี้

แม้ว่าพื้นผิวจะยังคงได้รับผลกระทบจากแรงชน แต่ก็น้อยลงมาก จนถึงจุดที่ดวงจันทร์ปรากฏต่อสายตามนุษย์อย่างไม่เปลี่ยนแปลง เหลือไว้เพียงบันทึกร่องรอยในประวัติศาสตร์ของมันเอง

จากร่องรอยหลักฐานที่เราเห็นหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ ทำให้เราพอจะเข้าใจการเกิดหลุมอุกกาบาตบนโลกของเรา

ข้อมูลจาก NASA
https://svs.gsfc.nasa.gov/10930/