CanSat หรือ ดาวเทียมกระป๋อง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จำลองการทำงานของดาวเทียม ขนาดเล็กประมาณกระป๋องน้ำอัดลม ใช้สำหรับเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ แต่ไม่ได้ถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจรในอวกาศจริง ซึ่ง CanSat จะถูกปล่อยลงมาจากความสูงประมาณ 100 – 4,000 เมตร จากพาหนะต่าง ๆ เช่น อากาศยาน จรวด บอลลูน หรือโดรน ในระหว่างที่ CanSat กางร่มชูชีพร่อนลงมา จะมีการปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์ที่กำหนดไว้ เช่น บันทึกภาพ วัดอุณหภูมิ และวัดค่าอากาศ ก่อนตกถึงพื้นดิน

ภายใน CanSat ประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน ในปัจจุบัน เช่น GPS, กล้องถ่ายภาพดิจิทัล, เซ็นเซอร์วัดความเร่ง, ไจโรสโคป และเซ็นเซอร์วัดสนามแม่เหล็ก ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดมีขนาดเล็ก ราคาถูก สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป และหาข้อมูลการใช้งานได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต เพื่อนำมาพัฒนาได้ด้วยตัวเอง

CanSat เหมาะที่จะเป็นโครงการอวกาศขนาดเล็กสำหรับสอนนักเรียน เพื่อได้ลงมือปฏิบัติจริง เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบดาวเทียม การกำหนดภารกิจ การสร้างและประกอบดาวเทียม การทดสอบ การเตรียมตัวปล่อย และการวิเคราะห์ปัญหา
นอกจากนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทักษะในการทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการโครงการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ได้

ประเภทของ CanSat
▪︎ Telemetry: ส่งข้อมูลไร้สาย
▪︎ Communication: ติดต่อสื่อสาร
▪︎ Remote Sensing: ถ่ายภาพระยะไกล
▪︎ Fly-back: บินลงเป้าหมายโดยอัตโนมัติ
▪︎ Run-back: วิ่งสู่เป้าหมายโดยอัตโนมัติ
▪︎ Formation Flight: บินเกาะหมู่

อุปกรณ์พื้นฐาน CanSat ประกอบด้วย
▪︎ หน่วยควบคุมขนาดเล็ก (MCU)
▪︎ ตัวรับส่งสัญญาณกับสถานีภาคพื้น
▪︎ แบตเตอรี่
▪︎ โครงสร้างภายนอก
▪︎ อุปกรณ์วัด อุณหภูมิ ความดัน และตำแหน่ง
▪︎ ร่มชูชีพ

CanSat เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ระบบต่างๆ ทางวิศวกรรมได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปใช้เสริมสร้างทักษะให้กับนักเรียน นักศึกษา ได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอก เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ด้านสะเต็ม (STEM Education)