จีนมีแนวโน้มที่จะเป็นประเทศแรกที่นำดินดาวอังคารกลับมายังโลกได้ โดยองค์การอวกาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China National Space Administration – CNSA) ออกมาเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จีนได้วางแผนเก็บตัวอย่างดินดาวอังคารแล้วนำกลับมายังโลกภายในปี พ.ศ. 2573 ด้วยภารกิจเทียนเหวิน-3 (Tianwen-3) ซึ่งเป็นภารกิจที่สามของจีนในการสำรวจดาวอังคาร

ตามแผนภารกิจของ CNSA หุ่นยนต์สำรวจเทียนเหวิน-3 แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ การลงจอด ยานขึ้นสู่อวกาศ ยานอวกาศ และโมดูลส่วนกลับสู่โลก โดยจะปล่อยด้วยจรวดลองมาร์ช 5 (Long March 5) จากศูนย์ปล่อยจรวดในจังหวัดไห่หนาน

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ตัวอย่างดินดาวอังคารกลุ่มตัวอย่างแรกที่ถูกส่งกลับมายังโลก จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาร่องรอยของชีวิตบนดาวอังคาร เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับธรณีวิทยาและโครงสร้างภายในของดาวอังคาร และเข้าใจวัฏจักรของชั้นบรรยากาศบนดาวอังคาร

สำหรับโครงการสำรวจดาวอังคารโครงการแรกของจีน คือ เทียนเหวิน-1 (Tianwen-1) โดยยานลงจอดของเทียนเหวิน-1 ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 และปล่อยยานสำรวจจู้หรง (Zhurong) เพื่อปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์บนดาวอังคาร

ส่วนภารกิจ เทียนเหวิน-2 (Tianwen-2) เป็นการเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อย 469219 Kamoʻoalewa ซึ่งมีกำหนดปล่อยยานในปี พ.ศ. 2568 และคาดว่าจะกลับมายังโลกพร้อมตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยในปี พ.ศ. 2570

อ้างอิงข่าว: China Daily