
ภาพอันน่าสนใจนี้เผยให้เห็นมุมมองกว้างไกลของบริเวณซีกใต้ของ ดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) ไปจนถึงห้วงอวกาศอันเวิ้งว้าง แสดงให้เห็นถึงจำนวนและการกระจายตัวของก้อนหินขนาดใหญ่ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้
ภาพนี้บันทึกไว้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยกล้องโพลีแคม (PolyCam) ที่ติดตั้งอยู่บนยานอวกาศโอไซริส-เรกซ์ (OSIRIS-REx) ขององค์การนาซา โดยถ่ายจากระยะห่างประมาณ 5 กิโลเมตร จากพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย ก้อนหินขนาดใหญ่ที่มีสีอ่อนซึ่งอยู่ใกล้กึ่งกลางภาพนั้น มีความกว้างประมาณ 7.4 เมตร
ดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีคาร์บอนสูง (carbonaceous asteroid) จัดอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near-Earth Asteroids – NEAs) มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร และโคจรรอบดวงอาทิตย์โดยมีวงโคจรที่ค่อนข้างใกล้กับโลก โดยมีโอกาสที่จะพุ่งชนโลกในอนาคต จึงถูกจัดให้เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสเสี่ยงสูงที่อาจชนโลกได้ในอีกหลายร้อยปีข้างหน้า ทำให้การศึกษาดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจและวางแผนรับมือกับภัยคุกคามจากอวกาศ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเบนนูเป็น “กองเศษหิน” (rubble pile) ที่ยึดติดกันอย่างหลวมๆ ด้วยแรงโน้มถ่วง ไม่ใช่ก้อนหินแข็งขนาดใหญ่เพียงก้อนเดียว และคาดว่ามีจุดกำเนิดมาจากดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่กว่าที่แตกสลายไปในช่วงต้นของระบบสุริยะ
ภารกิจ โอไซริส-เรกซ์ (OSIRIS-REx) ซึ่งย่อมาจาก Origins, Spectral Interpretation, Resource Identification, Security, Regolith Explorer มีเป้าหมายหลักในการเก็บตัวอย่างหินและฝุ่นจากพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยเบนนู เพื่อนำกลับมายังโลกให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด ตัวอย่างที่นำกลับมาได้นี้เป็น #แคปซูลกาลเวลา (time capsule) ที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกำเนิดของระบบสุริยะ รวมถึงแหล่งที่มาของน้ำและสารประกอบอินทรีย์ที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อการก่อกำเนิดชีวิตบนโลก
จากการวิเคราะห์ตัวอย่างที่ยานโอไซริส-เรกซ์นำกลับมายังโลกได้สำเร็จเมื่อปลายปี 2566 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบหลักฐานที่ชัดเจนว่า ตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูนั้นอุดมไปด้วยคาร์บอนและโมเลกุลของน้ำที่ถูกกักเก็บอยู่ในแร่ธาตุ นอกจากนี้ยังพบสารอินทรีย์และกรดอะมิโนหลายชนิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิต การค้นพบนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่าดาวเคราะห์น้อยอาจมีบทบาทสำคัญในการนำพาสารตั้งต้นของชีวิตมาสู่โลกในยุคแรกเริ่ม
ข้อมูลอ้างอิง: NASA